วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

8. สัตว์ยักษ์แห่งออสเตรเลีย ( Mega beast of Australia )






เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ขณะที่โลกผ่านจากยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย แผ่นดินออสเตรเลียก็ถูกปกคลุมด้วยผืนป่าเขตร้อนและพรรณไม้น้อยใหญ่ ผิดจากยุคปัจจุบัน แต่อีกสิ่งที่ทำให้ออสเตรเลียในยุคนั้นแตกต่างไปจากทุกวันนี้ก็คือ สัตว์ขนาดใหญ่จำนวนมากที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว พวกมันหลายชนิดไม่เพียงมีขนาดใหญ่โตเท่านั้นแต่ยังแปลกประหลาดกว่าสัตว์ในยุคปัจจุบันนี้มากด้วย



ทวีปออสเตรเลียเมื่อหกหมื่นปีก่อน มีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างไปจากสมัยนี้ กล่าวคือในยุคนั้น ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปนี้ ถูกปกคลุมด้วยผืนป่าเขตร้อน โดยมีพรรณไม้ขนาดใหญ่อยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่พื้นที่ซึ่งเป็นเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายยังมีไม่มากเท่าปัจจุบัน

สภาพดังกล่าวเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในยุคน้ำแข็ง แม้ว่าออสเตรเลียจะอยู่ในเขตศูนย์สูตร ทำให้ไม่ถูกหิมะและน้ำแข็งปกคลุมเหมือนในยุโรป เอเชียและอเมริกา แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ทำให้ปริมาณน้ำฝนของทวีปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวของผืนป่า ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนยุคพลีสโตซีนและไม่เฉพาะแต่พืชที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น สภาพอากาศของยุคน้ำแข็งยังส่งผลต่อขนาดของสัตว์บนทวีปนี้ด้วย กล่าวคือ สัตว์หลายชนิดมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากร่างกายที่ใหญ่โตจะกักเก็บความร้อนได้ดีกว่า จนกระทั่งเมื่อถึงยุคพลีสโตซีน ออสเตรเลียก็กลายเป็นดินแดนของสัตว์ยักษ์หลายชนิด ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของออสเตรเลียมีความแตกต่างจากทวีปอื่น กล่าวคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นพวกมาซูเพียล (Marsupial) หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรูปแบบโบราณที่มีมาก่อนพวกมีรกหรือพลาเซนทัล ส่วนที่เหลืออีกไม่กี่ชนิดเป็นพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ที่เรียกว่า โมโนทรีม (Monotreme)

เมื่อ 100 ล้านปีก่อน พวกมาซูเพียลซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าพวกโมโนทรีมที่กระจายพันธุ์อยู่ตั้งแต่ช่วงแรกของยุคเมโซโสอิก ได้อพยพเข้าไปอยู่ในทวีป  " กอนด์วานา " ทางซีกโลกใต้ โดยมาซูเพียลได้อพยพไปอยู่ในมวลแผ่นดินที่กลายเป็นทวีปออสเตรเลียและแอนตาร์กติกาในปัจจุบัน ก่อนหน้าที่ทั้งสองทวีปจะแยกตัวจากทวีปกอนด์วานา จากนั้นเมื่อทวีปทั้งสองแยกจากแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็ทำให้พวกมาซูเพียลและโมโนทรีมติดมาด้วย ขณะที่บนแผ่นดินใหญ่ หลังจากเข้าสู่ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พวกมีรกหรือพลาเซนทัลก็ได้วิวัฒนาการรวมทั้งกระจายสายพันธุ์อย่างรวดเร็วและแย่งชิงพื้นที่จากพวกมาซูเพียลและโมโนทรีม จนในที่สุดทั้งสองกลุ่มก็สูญพันธุ์ไปจนหมด  แต่ในทวีปออสเตรเลีย พวกมาซูเพียลและโมโนทรีมที่ไร้คู่แข่งได้วิวัฒนาการสายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางและในที่สุดพวกมันก็ครอบครองทวีปออสเตรเลียทั้งหมด

ทฤษฎีดังกล่าว เป็นที่ยอมรับกันมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งเป็นฟอสซิลของพลาเซนทัลรุ่นแรกในออสเตรเลีย โดยอายุของฟอสซิลที่ค้นพบอยู่ในช่วง 110 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฟอสซิลของพลาเซนทัลที่พบในดินแดนที่เคยเป็นทวีปในซีกโลกเหนือ หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาที่เคยคิดกันว่าพวกพลาเซนทัลครอบครองทวีปตอนเหนือและมาซูเพียลครองทวีปตอนใต้นั้น กลายเป็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวพวกพลาเซนทัลได้กระจายตัวไปอยู่ในทั้งสองทวีปแล้ว จนกระทั่งเมื่อเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กวาดล้างสิ่งมีชีวิตในทวีปทางใต้รวมทั้งพวกพลาเซนทัลรุ่นแรกๆไปจนหมด จากนั้นพวกมาซูเพียลรุ่นต่อมา จึงได้อพยพเข้าไปในออสเตรเลียและครอบครองทวีปนี้แทน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าระหว่างทฤษฎีทั้งสอง ว่าทฤษฎีใดถูกต้องที่สุด



ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งมาซูเพียลและพลาเซนทัลก็เข้ากระจายตัวและครอบครองโลกหลังจากยุคไดโนเสาร์สิ้นสุดลง ในช่วงแรกของยุคซีโนโซอิกหรือยุคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  มีพวกมาซูเพียลจำนวนมากอาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลียและอเมริกาใต้ ต่อมาเมื่อพวกพลาเซนทัลรุ่นใหม่อพยพผ่านสะพานแผ่นดินจากอเมริกาเหนือเข้าไปในทวีปอเมริกาใต้ พวกมาซูเพียลที่อยู่ที่นั่นก็สูญพันธุ์ไป เนื่องจากไม่อาจแข่งขันกับพวกพลาเซนทัลได้ แต่ออสเตรเลียแยกจากแผ่นดินใหญ่ก่อนที่พวกมีรกหรือพลาเซนทัลจะเข้าไป ทำให้พวกมาซูเพียลสามารถกระจายตัวและครอบครองทวีปนี้มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าในปัจจุบันพวกมาซูเพียลจะเหลือน้อยกว่าพวกพลาเซนทัล ทว่านั่นก็ไม่ได้หมายความว่า มาซูเพียลจะด้อยกว่า  แม้ว่าพวกนี้จะมีระบบมดลูกที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ลูกอ่อนต้องมาเติบโตในถุงหน้าท้อง แต่ประโยชน์ของถุงหน้าท้องก็ทำให้พวกมันมีอัตราเมตาบอลิซึ่มของร่างกายต่ำกว่าพลาเซนทัล พวกมาซูเพียลจึงใช้พลังงานน้อยกว่า ทำให้พวกนี้สามารถอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้งและแปรปรวนได้ดีกว่า

ในบรรดามาซูเพียลทั้งหมด สัตว์ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ จิงโจ้ ซึ่งพบได้แพร่หลายและมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาสัตว์กินหญ้าของทวีปออสเตรเลีย แต่ในสมัย 60,000 ปีก่อน ภูมิประเทศของออสเตรเลีย ไม่ได้มีทุ่งหญ้ามากเท่าทุกวันนี้ การกระจายพันธุ์ของพวกกินหญ้าจึงไม่มากเท่าปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในยุคนี้  ก็มีสมาชิกที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของจิงโจ้อยู่ มันคือจิงโจ้ยักษ์ หรือ โปรคอปโตดอน ( Procoptodon ) สัตว์ชนิดนี้มีความสูงราว 9 ฟุต และหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ลักษณะของมันเหมือนกับจิงโจ้ แต่มีกะโหลกที่สั้นทำให้ใบหน้าค่อนข้างแบนเมื่อเทียบกับจิงโจ้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เล็บเท้าของโปรคอบโตดอนยังติดกันคล้ายกีบเท้าและมีช่วงแขนที่ยาว ซึ่งจากความสูงและความยาวของแขน ทำให้คิดกันว่า โปรคอปโตดอน น่าจะใช้ประโยชน์จากรูปร่างของมันหาอาหารจำพวกใบไม้และยอดไม้ มากกว่าการกินหญ้าตามพื้น ทั้งนี้ในยุคนั้น ออสเตรเลียมีป่าอยู่มาก โปรคอปโตดอน จึงน่าจะหากินอยู่ในป่ามากกว่าตามทุ่งโล่งอย่างจิงโจ้ยุคปัจจุบัน



นอกจากโปรคอปโตดอน ทวีปออสเตรเลียในยุคนั้น ยังมีจิงโจ้ยักษ์อีกหลายชนิดที่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย รวมทั้งยังมีวอลลาบียักษ์ที่ใหญ่กว่าวอลลาบีในยุคปัจจุบันถึงสองเท่าด้วย


Diprotodon
สัตว์ยักษ์ชนิดต่อมา เป็นมาซูเพียลที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย นั่นคือ ไดโปรโตดอน ( Diprotodon ) ญาติของมันคือ วอมแบท ซึ่งเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องหน้าตาคล้าย โคอาลา ไดโพรโตดอนมีลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร สูงกว่า 2 เมตร และมีน้ำหนักราวสองตัน มันมีเล็บเท้าหน้าขนาดใหญ่ ที่คาดว่าน่าจะใช้ประโยชน์ในการขุดรากไม้กิน นอกจากนี้ยังมีการพบซากไดโปรโตดอนพร้อมกับลูกอ่อน ที่นอนในท่ากลับหัว ทำให้คิดกันว่า กระเป๋าหน้าท้องของสัตว์ชนิดนี้น่าจะกลับหัวกันเหมือนกับของวอมแบทหรือโคอาลา แทนที่จะหันขึ้นไปทางหัวเหมือนจิงโจ้ พวกมันมีการกระจายตัวในวงกว้าง โดยมีการค้นพบฟอสซิลของไดโปรโตดอนในทุกส่วนของทวีปออสเตรเลียยกเว้นเกาะทัสเมเนีย  บางทีพวกมันอาจจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆและหากินในบริเวณป่าโปร่งและบริเวณป่าละเมาะ

Palorchestes
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ใกล้เคียงกับไดโพรโตดอน ได้แก่ ไซโกมาทอรัส ( Zygomataurus ) มันมีขนาดเท่ากับวัวและหัวกระโหลกมีรูปจมูกที่เป็นโพรงขนาดใหญ่ ที่น่าจะเหมาะกับการใช้หายใจในน้ำ นักสัตววิทยาจึงคิดว่าพวกมันน่าจะดำรงชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำแบบเดียวกับฮิปโปโปเตมัสในปัจจุบัน

นอกจากพวกที่ได้เอ่ยไปแล้ว ออสเตรเลียในยุคนี้ยังมีสมาชิกร่วมสมัยหน้าตาแปลกๆอย่าง เจ้าปาลอเคตีส ( Palorchestes ) สัตว์กินพืชตัวใหญ่ขนาดวัว มีเล็บยาวแข็งแรงซึ่งน่าจะใช้ในการฉีกเปลือกไม้และขุดหารากไม้กิน นอกจากนี้ยังมีงวงคล้ายสมเสร็จ  มันจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า สมเสร็จมาซูเพียล
เมื่อกล่าวถึงมาซูเพียลนักล่าขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย ที่รู้จักกันดีก็คงไม่พ้น ไทลาซีน หรือหมาป่าทัสมาเนีย ที่ภายหลังหลงเหลืออยู่บนเกาะทัสมาเนียเพียงแห่งเดียว จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว100 ปีที่แล้ว แต่ในยุค 60,000 ปีที่แล้ว ยังมีนักล่ามาซูเพียลอีกชนิดหนึ่งซึ่งน่าเกรงขามกว่า นั่นคือ ไทลาโคลีโอ (Thylacoleo) หรือ สิงโตมาซูเพียล (Marsupial lion)

Thylacoleo



นักล่าชนิดนี้มีขนาดพอๆกับเสือดาวตัวเขื่อง และหนักเกือบ 80 กิโลกรัม รูปร่างของมันคล้ายกับสิงโต แต่อุ้งเท้าหน้ายังมีลักษณะคล้ายอุ้งมือของสัตว์ฟันแทะ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมัน หางที่ค่อนข้างยาวบอกให้ทราบว่ามันสามารถปีนต้นไม้ได้ดี  จุดเด่นของมันอีกประการคือ เขี้ยว ทั้งนี้สัตว์นักล่าทั่วไปจะมีเขี้ยวขนาดใหญ่เป็นอาวุธสังหาร ทว่าไทลาโคลีโอกลับมีเขี้ยวขนาดเล็กพอๆกับฟันซี่อื่น แต่มีฟันหน้าขนาดใหญ่ที่โค้งคมและใช้เป็นอาวุธสังหาร สำหรับเหยื่อของมันจะเป็นพวกวอลลาบีและจิงโจ้ต้นไม้ บางครั้งอาจรวมถึงไดโปรโตดอนที่อายุน้อยด้วย



อย่างไรก็ดี ไทลาโคลีโอก็ไม่ใช่นักล่าที่น่ากลัวที่สุดของออสเตรเลีย ตำแหน่งนี้ในยุค 60,000 ปีที่แล้ว เป็นของสัตว์อีกพวกหนึ่ง มันคือ เมกาลาเนีย ( Megalania ) กิ้งก่ายักษ์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในโลก เมกาลาเนียเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับมังกรโคโมโด รูปร่างของพวกมันคล้ายกัน แต่เมกาลาเนียยาวถึง 6 เมตรและหนักเกือบ 700 กิโลกรัม  มันเป็นสัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อและเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามของไดโปรโตดอนรวมทั้งสัตว์อื่นในยุคเดียวกัน

เมกาลาเนียมีกรงเล็บที่แหลมคมเป็นอาวุธ ฟันของมันเรียงเป็นแนวติดกันและเชื่อกันว่า ในน้ำลายของมันก็น่าจะอุดมไปด้วยเชื้อโรค  เนื่องจากมันเป็นสัตว์เลือดเย็น เมกาลาเนียจึงไม่อาจไล่ล่าเหยื่อได้เป็นเวลานาน แต่ทำได้เพียงโจมตีในช่วงสั้นๆ ซึ่งคงไม่อาจล้มเหยื่อได้โดยง่าย สันนิษฐานว่าเมกาลาเนียอาจใช้วิธีการล่าแบบเดียวกับโคโมโด นั่นคือพุ่งเข้ากัดเหยื่อให้เป็นแผลและปล่อยให้หนีไป โดยเหยื่อจะเกิดอาการติดเชื้อ เลือดเป็นพิษและตายลงในเวลาไม่เกินสามวันหลังการจู่โจม จากนั้นเมกาลาเนียจะตามกลิ่นเลือดของเหยื่อไปจนพบซากและลงมือกิน สัตว์พวกนี้มีประสาทรับกลิ่นที่ดีเยี่ยมและค้นหาซากได้ในระยะไกล

นอกจากเมกาลาเนียแล้วในยุค 60,000 ปี ก่อน ออสเตรเลียยังมีจระเข้บกยาวเกือบเจ็ดเมตร เต่ายักษ์มีเขาที่ยาวสามเมตรและงูยักษ์ขนาดหกเมตร สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ร่วมสมัยกับพวกไดโนเสาร์




ออสเตรเลียในยุคนี้มีสัตว์ยักษ์ที่หลากหลาย โดยนอกจากมาซูเพียลและสัตว์เลื้อยคลานแล้ว ก็ยังมีนกยักษ์ที่บินไม่ได้ อย่าง โดรมอนิส ( Dromornis ) ซึ่งมีหัวกระโหลกและจงอยปากขนาดใหญ่ มันมีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัมและสูงถึง 8 ฟุต, เจนนอนิส ( Genyornis ) ซึ่งดูคล้ายเป็ดขนาดยักษ์ มีช่วงขาใหญ่และสั้น มีคอยาว นกชนิดนี้หนัก 200 กิโลกรัม และสูงประมาณ 7 ฟุต รวมทั้งยังมีพวกโมโนทรีมขนาดยักษ์ อย่างซากลอสซัส ( Zaglossus ) หรือตุ่นเข็มขนาดยักษ์ตัวเท่าแกะ และตุ่นปากเป็ดยักษ์ที่ยาวถึงหนึ่งเมตร
        

พวกสัตว์ยักษ์อาศัยอยู่บนทวีปนี้มาจนกระทั่งเมื่อราว 40,000 ปีที่แล้ว พวกมันก็สูญพันธุ์ไปจนหมด สาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ยักษ์แห่งทวีปออสเตรเลีย จากหลักฐานเดิม เชื่อกันว่า เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเมื่อราวหกหมื่นปีก่อน อากาศของทวีปออสเตรเลียค่อย ๆ แห้งแล้งมากขึ้น ป่าเริ่มหายไปและกลายเป็นทุ่งหญ้า ทำให้สัตว์กินพืชขนาดยักษ์ไม่อาจปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ พวกมันจึงทยอยลดจำนวนลงจนสูญพันธุ์และเมื่อพวกเหยื่อขนาดใหญ่หายไป บรรดานักล่าทั้งหลายก็ลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ตามเหยื่อของมันไป


ทว่าข้อที่น่าสงสัยก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาของยุคพลีสโตซีนมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหลายครั้ง แต่สัตว์ยักษ์ของออสเตรเลียก็สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาได้ อย่างไรก็ดี ข้อสงสัยดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลง เมื่อมีการพบหลักฐานการเข้ามายังทวีปออสเตรเลียของมนุษย์ เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเก่าแก่กว่าหลักฐานใดๆที่เคยพบก่อนหน้านั้น  ที่สำคัญมีการพบร่องรอยของการเผาไหม้เป็นบริเวณกว้างใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า เคยมีไฟไหม้ป่าหลายครั้ง  ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่เผาป่าเพื่อล่าสัตว์

                
                
          

แม้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มนุษย์ยุคแรกของออสเตรเลียไล่ล่าสัตว์ยักษ์เหล่านี้ แต่สัตว์ยักษ์ทั้งหมดก็สูญพันธุ์ไปหลังการมาถึงของมนุษย์ได้เพียง 10,000 ปี เท่านั้น  การเผาป่าของมนุษย์อาจเป็นปัจจัยเร่งให้พื้นที่ป่าลดลงและทุ่งหญ้าขยายตัวเร็วขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเร่งการเปลี่ยนของสภาพธรรมชาติให้เร็วขึ้น ทำให้บรรดาสัตว์ยักษ์ของออสเตรเลียที่ไม่อาจปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้  พากันล้มตายลงจนหมดสิ้น .......


อ่านต่อ "  9. Taronga zoo Show " ครับ...
http://anutjack4.blogspot.com/2014/07/9-taronga-zoo-show.html






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น